
ทำไมเหล็กเพลทสำคัญต่องานโครงสร้าง และมีเทคนิคการเจาะรูแผ่นเพลทอย่างไร?
เหล็กเพลท หรือ แผ่นเพลทคืออะไร?
เป็นเหล็กแผ่นที่ผ่านกระบวนการรีดให้ได้ขนาดที่ต้องการ ซึ่งจะมีหลายลักษณะทั้งสี่เหลี่ยม วงกลม วงรี หรือแบบอื่นๆ จะมีทั้งแบบเจาะรูและไม่เจาะรู ส่วนใหญ่เหล็กเพลท หรือ แผ่นแพลท มักจะถูกนำไปใช้ในงานโครงสร้าง งานปิดหัวเสา หรืองานทำโครงหลังคา เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความแข็งแรง หรือรับน้ำหนักจำนวนมากๆ ทั้งในแนวดิ่ง และแนวราบ
เหล็กแผ่นที่ใช้ทำแผ่นเพลทมี 2 ประเภท คือ
เหล็กแผ่นหนา
เป็นเหล็กแผ่นที่มีความหนาตั้งแต่ 10 mm. – 200 mm. ส่วนใหญ่เหล็กแผ่นหนาจะถูกนำไปใช้ในการต่อเรือ หรืองานโครงสร้างขนาดใหญ่
เหล็กแผ่นม้วน
เป็นเหล็กแผ่นที่มีความหนาตั้งแต่ 0.1 mm. – 12 mm. แบ่งย่อยตามการผลิตได้ 3 ประเภท
- เหล็กแผ่นรีดร้อน มีความหนาประมาณ 1 mm. – 12 mm. เป็นเหล็กแผ่นที่ผ่านการผลิตด้วยความร้อนสูง รีดที่อุณหภูมิกว่า 700 องศา จึงทำให้ผิวของเหล็กมีสีดำ หรือที่ช่างหลายๆ คนเรียกว่าเหล็กดำ ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในงานโครงสร้างอาคาร งานตั้งเสา งานท่อ งานถังแก๊ส หรืองานขึ้นรูปทั่วไปที่ไม่เน้นคุณภาพผิว
- เหล็กแผ่นรีดเย็น มีความหนาประมาณ 0.1 mm. – 3.2 mm. ทั่วไปเรียกว่า เหล็กแผ่นขาว ผิวจะไม่มีสนิม ไม่ดำ มีความสามารถในการปั๊มขึ้นรูปลึกมากกว่า ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในงานขึ้นรูปที่เน้นคุณภาพผิว เช่น ตัวถังรถยนต์ ตัวบอดี้เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์
- เหล็กแผ่นเคลือบ มีความหนาประมาณ 0.1 mm. – 3.2 mm. ส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กกล้าชนิดแผ่นเคลือบโลหะผสมสังกะสี จึงเป็นเหล็กแผ่นที่ทนทานต่อการเกิดสนิมได้ดี
การเจาะรูเหล็กเพลทมีกี่แบบ?
โดยทั่วไปการเจาะรูที่เห็นบ่อยๆ จะมีอยู่ 4 แบบ
- เจาะแบบรูกลม : ใส่น๊อตหรือพุก ได้แค่ขนาดเดียว รองรับขนาดของรูได้ตั้งแต่ 8 mm.ขึ้นไป จะยึดติดไม่สามารถเลื่อนได้ เหมาะกับงานที่มีระยะวัดตายตัว
- เจาะแบบรู Slot : ใส่น๊อตหรือพุก ได้แค่ขนาดเดียว รองรับขนาดของรูได้แค่ขนาด 10 mm. และความหนา 4 mm. หรือ 6 mm. เท่านั้น ซึ่งเป็นขนาดทั่วไป สามารถเลื่อนปรับระยะได้ เหมาะกับงานที่ต้องการปรับระยะ ไม่ตายตัว
- เจาะแบบรู Slot ขนาด : ใส่น๊อตหรือพุกได้ 2 ขนาด 1 แผ่นสามารถเปลี่ยนน๊อตหรือพุกได้ 2 ขนาด ใส่ขนาดไหนก็ได้ ขนาดรูจะพอดีกับน๊อตหรือพุก สามารถเลื่อนปรับระยะได้ เหมาะกับงานที่ต้องการปรับระยะ ไม่ตายตัว งานทั่วไป
- เจาะแบบรูเหลี่ยม : เป็นลักษณะแบบเฉพาะได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม
เหล็กเพลทสำคัญต่องานโครงสร้างอย่างไร?
ปัจจุบันในงานโครงสร้างมักจะนิยมใช้เป็นตัวเชื่อมระหว่างเหล็กกล่องที่ใช้ทำเป็นต้นเสายึดติดกับคาน สำหรับเสาปูนจะเชื่อมแผ่นเพลทติดกับแกนเสาแล้วเชื่อมติดกับคานโครงหลังคาอีกที เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้มากขึ้น เนื่องจากจะช่วยในการกระจายน้ำหนักลงสู่ต้นเสาให้สมดุล แบ่งเบาภาระน้ำหนักของเสาและยังช่วยให้ปรับระดับได้ง่าย
ขนาดแผ่นเหล็กเพลทที่นิยมใช้
ขนาดแผ่นเพลทที่นิยมใช้ส่วนใหญ่ จะมี ขนาด 3×3 นิ้ว, 4×4 นิ้ว, 5×5 นิ้ว, 6×6 นิ้ว, 7×7 นิ้ว, 8×8 นิ้ว, 10×10 นิ้ว และ12×12 นิ้ว ส่วนความหนาก็จะอยู่ที่ 4 mm. 6 mm. และ 9 mm. ที่ขนาดเหล่านี้ได้รับความนิยมเพราะช่างส่วนใหญ่จะเลือกขนาดให้พอดีกับขนาดเสาโครงสร้าง เช่น เสาขนาด 4 นิ้ว จะใช้เหล็กเพลทปิดหัวเสาขนาด 4×4 นิ้ว ส่วนฐานเสาจะใช้ขนาดใหญ่กว่า อย่าง 5×5 นิ้ว, 6×6 นิ้ว, 7×7 นิ้ว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของช่าง ที่ฐานเสาต้องใช้แผ่นเพลทขนาดใหญ่กว่าเพื่อที่จะได้มีพื้นที่เว้นระยะหัวน๊อต เพราะถ้าหัวน๊อตติดกับต้นเสาจะหมุนปรับระดับน๊อตไม่ได้
เทคนิคการเจาะรูเหล็กเพลท
วางแผนรูเจาะให้ถูกต้องชัดเจน
อันดับแรกคือต้องวางแผนรูเจาะให้ชัดเจน ระยะห่างจากขอบเท่าไหร่ ระยะห่างระหว่างรูทั้ง 4 เท่าไหร่ จะได้กำหนดตำแหน่งเจาะได้ถูก
กำหนดตำแหน่งเจาะให้ตรงตามแบบ
เมื่อมีแบบที่ชัดเจน ขั้นต่อไปคือ ต้องกำหนดจุดอย่างแม่นยำ เวลาเจาะจะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาด
การเลือกเครื่องเจาะและดอกสว่านให้เหมาะสมกับความหนา
สิ่งสำคัญของการเจาะรู ต้องการเลือกเครื่องเจาะและดอกสว่านให้เหมาะสมกับความหนาของแผ่นเพลท เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการเจาะสูงสุด
ถึงแม้ว่าการไม่ใช้เหล็กเพลทจะไม่เป็นเรื่องผิดอะไร แต่การเสริมด้วย แผ่นเพลทจะช่วยกระจายน้ำหนักของเสา ช่วยเรื่องความแข็งแรงได้ดีกว่า โดยเฉพาะงานโครงสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งก็จะช่วยได้มากเลยทีเดียว