
ท่อเหล็กมีกี่ชนิด ท่อเหล็กมีกี่ขนาด คุณสมบัติของท่อเหล็กแต่ละแบบใช้งานอย่างไร
เมื่อพูดถึง “ท่อเหล็ก หรือ Steel Pipe” ก็ถือว่าเป็นวัสดุที่ผลิตมาจากเหล็กกล้าที่มีความแข็งแรง ทนทานเป็นพิเศษ มีประโยชน์หลากหลาย สามารถนำไปใช้งานได้หลายงาน ไม่ว่าจะเป็นงานในการประกอบขึ้นรูปเฟอร์นิเจอร์ ขั้นโครงนั่งร้าน นำไปประกอบเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า อุตสาหกรรมการประปา ระบบขนส่งก๊าซ ท่อน้ำมันและระบบขนส่งน้ำมัน ซึ่งในการใช้งานท่อเหล็กแต่ละชนิดนั้นก็จะมีถูกแบ่งตามประเภทท่อและขนาดของท่อด้วย วันนี้เราจึงจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ท่อเหล็กแต่ละชนิดให้ถูกประเภทการใช้งาน รวมถึงท่อเหล็กแต่ละขนาดมีแบบไหนบ้างให้เล่ากันค่ะ
คุณสมบัติพิเศษของท่อเหล็กกล้า
ท่อเหล็กส่วนใหญ่มักจะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือความแข็งแรงทนทาน ทนต่อสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ ทนต่อสารสารเคมี มีให้เลือกใช้หลายชนิด เช่น ท่อเหล็กกล้า ท่อเหล็กหล่อ และท่อเหล็กไร้สนิม (Stainless Steel) ท่อมีตะเข็บและท่อไม่มีตะเข็บ ส่วนใหญ่ตัวท่อจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 0.5 นิ้ว ไปจนถึง 120 นิ้ว และจะถูกแบ่งตามชนิดการใช้งานได้ดังนี้
ท่อเหล็กมีกี่ชนิด
- ท่อเหล็กขนาดเล็ก เป็นท่อเหล็กที่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นท่อเหล็กอาบสังกะสี และท่อเหล็กดำ สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ใช้งานได้ตามบ้านเรือนทั่วไป หาซื้อง่าย
- ท่อเหล็กขนาดใหญ่ เป็นท่อเหล็กที่เหมาะใช้ในหน่วยงานใหญ่ๆ เช่น ท่อเหล็กประปาของการประปานครหลวง การประปาภูมิภาค กรมชลประทาน การไฟฟ้า และยังนำไปเป็นท่อแก๊ส ท่อน้ำมันได้ด้วย
- ท่อเหล็กหล่อ มีความทนทาน ทนสภาพอากาศ และสารเคมีสูง จึงนิยมใช้ในงานระบบน้ำทิ้งภายนอกอาคารหรือใช้ทดแทนท่อ PVC
ประเภทของท่อเหล็กมีอะไรบ้าง
ท่อเหล็กจะถูกแบ่งประเภทตามการใช้งานหลักๆ ได้ดังนี้
1. ท่อเหล็กร้อยสายไฟ
จุดเด่นของท่อเหล็กร้อยสายไฟสำหรับงานเดินสายไฟก็คือจะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดกับสายไฟ เช่น การถูกกดทับ เสียดสี หรือในพื้นๆ ที่มีความไม่เหมาะสมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสายไฟ ทำให้เสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยการใช้งานท่อเหล็กร้อยสายไฟก็มีการแบ่งหมวดออกไปอีก 4 หมวด คือ
- ท่อโลหะเนื้อบาง (Electrical Metallic Tubing หรือ EMT) จุดเด่นคือ ตัวท่อมีความมันวาว เนื้อเรียบ มีขนาดตั้งแต่ ½ นิ้ว – 2 นิ้ว ยาวประมาณ 3 เมตร เหมาะสำหรับใช้เดินลอยในอากาศ หรือฝังในผนังคอนกรีต แต่ห้ามใช้ฝังดิน/พื้นคอนกรีตและไม่สามารถบิดเกลียวได้
- ท่อโลหะเนื้อปานกลาง(Intermediate Metal Conduit หรือ IMC) มีขนาดตั้งแต่ ½ นิ้ว – 4 นิ้ว ยาวประมาณ 3 เมตร เหมาะสำหรับใช้เดินนอกอาคารหรือฝังในผนัง/พื้นคอนกรีต
- ท่อโลหะเนื้อหนา (Rigid Steel Conduit หรือ RSC) มีขนาดตั้งแต่ ½ นิ้ว – 6 นิ้ว ยาวประมาณ 3 เมตร รวมถึงระบุชนิดของท่อและขนาดท่อ ไว้บนท่อด้วยตัวอักษรสีดำ ซึ่งท่อชนิดนี้สามารถใช้งานได้ทั้งภายนอก-ภายใน และฝังในผนังหรือพื้นคอนกรีตก็ได้
- ท่อโลหะอ่อน (Flexible Metal Conduit) คุณสมบัติเด่นคือ มีความอ่อนตัว ยืดหยุ่นสูง สามารถนำไปดัดให้โค้งงอได้ตามความต้องการได้โดยท่อไม่เสียหายและกระทบต่อการใช้งาน ทนต่อความร้อน มีขนาดตั้งแต่ ½ นิ้ว – 4 นิ้ว เหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่แห้ง ต่อดวงไฟหรือต่อเข้ากับมอเตอร์เครื่องกลที่ต้องรับแรงสั่นสะเทือนสูง แต่ไม่เหมาะใช้ในพื้นที่เปียกและไม่ควรฝังดินหรือพื้นคอนกรีต
- ท่อโลหะอ่อนกันน้ำ เป็นท่อเหล็กที่มีลักษณะของท่อโลหะอ่อนทุกประการ แต่ว่าภายนอกหุ้มด้วย PVC เพื่อป้องกันความชื้น คราบน้ำมัน และป้องกันน้ำไม่ให้ทำอันตรายหรือสร้างความเสียหายต่อตัวท่อ ไม่ให้เข้าไปในท่อ มีขนาดตั้งแต่ ½ นิ้ว – 4 นิ้ว
2. ท่อเหล็กอาบสังกะสี
ท่อประปาเหล็กอาบสังกะสี จะเป็นท่อเหล็กที่ผลิตมาจากเหล็กกล้าขึ้นรูปที่ต้องการแล้วนำไปชุบสังกะสีเพื่อเพิ่มความทนทานและป้องกันสนิมขึ้น ช่วยยืดอายุการใช้งานได้มากขึ้น มีจุดเด่นคือ ใช้งานได้ยาวนาน ไม่เป็นสนิม นำไปทำเกลียวง่าย เลือกความหนาของเหล็กได้ โดยความหนาของเนื้อเหล็ก จะแบ่งตามสีคาด เช่น สีแดง = เนื้อหนาที่สุด , สีน้ำเงิน = เนื้อหนาปานกลาง และสีเหลือง = เนื้อบางสุด
3. ท่อเหล็กกัลวาไนซ์ (Galvanized Pipe)
หรือที่ช่างมักจะเรียกคุ้นปากกว่า “ท่อเหล็กประปา หรือ แป๊บเหล็กประปา”เป็นท่อเหล็กท่อชุบสังกะสีชนิดจุ่มร้อน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงป้องกันสนิม ทนต่อการกัดกร่อน ยืดอายุการใช้งานมากกว่าท่อเหล็กทั่วไป 2-3 เท่า นิยมใช้งานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ งานท่อระบายน้ำ ท่อน้ำทิ้ง ท่อลำเลียง หรืองานที่ต้องทนรับแรงกด แรงกระแทกสูงๆ หรืองานที่ท่อเสี่ยงต่อการถูกทับด้วยเครื่องจักรเยอะๆ เพราะท่อกัลวาไนซ์จะค่อนข้างแข็งแรงทนทาน ไม่แตกหักง่าย มีแบ่งชั้นความหนา 3 ประเภทเหมือนท่ออาบสังกะสีทุกประการ คือ สีแดง = เนื้อหนาที่สุด , สีน้ำเงิน = เนื้อหนาปานกลาง และสีเหลือง = เนื้อบาง
4. ท่อกลมดำ (Carbon Steel Tubes)
ท่อเหล็กกลมดำเป็นท่อที่มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ท่อแป๊บดำ เหล็กหลอด เหล็กกลมดำ ท่อดำ โดยเหล็กท่อกลมดำ ฯลฯ จุดเด่นคือ มีน้ำหนักเบา ความแข็งแรงทนทาน รับแรงดันได้ดี นิยมนำไปใช้ในงานก่อสร้างที่ขึ้นโครงสร้างที่ไม่ต้องรับน้ำหนักเยอะๆ โครงนั่งร้าน เฟอร์นิเจอร์ ป้ายต่างๆ และงานท่อประปา ท่อชลประทาน ระบบน้ำภายในอาคารขนาดเล็ก-กลาง
มาตรฐานท่อเหล็ก
ประเทศไทยมีการระบุมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.).276 ควบคุมอยู่แบ่งท่อออกเป็น 4 ประเภท ตามความหนาของผนังท่อ ซึ่ง มอก. กำหนดให้มีแถบสีกว้างประมาณ 5 ซ.ม. แสดงบนตัวท่อด้วย คือ
- ท่อเหล็กมีตะเข็บ ผนังท่อบางแถบสีเหลือง
- ท่อเหล็กมีตะเข็บ และไม่มีตะเข็บ ผนังท่อหนาปานกลางแถบสีน้ำเงิน
- ท่อเหล็กแบบมีตะเข็บ และไม่มีตะเข็บ ผนังท่อหนาแถบสีแดง
- ท่อเหล็กมีตะเข็บ และไม่มีตะเข็บ ผนังท่อหนาพิเศษแถบสีเขียว